ฉบับที่ 11

สวัสดีครับเพื่อนครู สพป.ตาก เขต 1 ทุกท่าน

ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้ (ผ่านมาแล้ว)
ขอเน้นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น นอกเหนือจากประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เรื่อง แนวปฏิบัติในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พ.ศ. 2551 โดยในประกาศรวมเรื่องการแบ่งสัดส่วนการใช้โควตาและวงเงินเลื่อนขั้นในสัดส่วนที่เหมาะสม
และเป็นธรรม โดยคำนึงถึง
(ก)  ข้าราชการที่มีผลการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูง
(ข)  ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในท้องถิ่นห่างไกล / ทุรกันดาร หรือการคมนาคมไม่สะดวก
หรือมีความยากลำบากในการปฏิบัติงาน
(ค)  หน่วยงานการศึกษาที่ขาดแคลนอัตรากำลัง แต่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานสูง

จากข้อกำหนดดังกล่าว ท่านผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ประกาศนโยบายการพัฒนา
คุณภาพโรงเรียนตั้งแต่วันที่ท่านมาปฏิบัติงานที่ สพป.ตาก เขต 1 โดยหวังจะเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอีก
8% (O-NET) นั่นหมายถึงท่านจะดูคุณภาพของแต่ละโรงเรียน และในการพิจารณาเรื่องการเลื่อนขั้นเงินเดือน
ในครั้งนี้ ท่านตั้งคณะกรรมการหลาย ๆ คณะในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินการประกันคุณภาพภายใน
ของทุกโรงเรียน คณะกรรมการประกอบด้วย  บุคลากรเขตพื้นที่ และบุคลากรโรงเรียน ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับ
ผล O-NET  ผลการประกันคุณภาพภายใน ผลศิลปหัตถกรรมนักเรียน โรงเรียนกันดาร โรงเรียนขนาดเล็ก
และเกณฑ์อื่น ๆ ประกอบ  โดยพิจารณาหลายขั้นตอนหลายชั้น

หลังจากนี้ต่อไป เขตพื้นที่การศึกษาต้องทำอะไร โรงเรียนต้องทำอะไร

เขตพื้นที่การศึกษา

1. เขตพื้นที่การศึกษา จะต้องกำหนดกรอบการพิจารณาเงินเดือนครั้งต่อไปว่าจะมีเกณฑ์อะไรบ้าง
โดยต้องตั้งคณะกรรมการจากบุคลากรเขต และโรงเรียนร่วมกันพิจารณา เช่น ข้อ (ก) ผลการปฏิบัติงาน
ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง จะใช้เกณฑ์อะไรบ้าง  ข้อ (ข)  คำว่าห่างไกล / ทุรกันดาร /
การคมนาคมไม่สะดวก / ยากลำบากในการปฏิบัติงาน ได้แก่ โรงเรียนอะไรบ้าง     ข้อ (ค)
ขาดแคลนอัตรากำลังแต่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานสูง มีเกณฑ์อย่างไร
2.  แจ้งกรอบการประเมินให้ทุกโรงเรียนทราบ
3.  ทำแผนพัฒนาเฉพาะ นอกเหนือจากโครงการในแผนปฏิบัติการประจำปี (เฉพาะที่ไม่ระบุ
ในโครงการ)  หรือทำแผนการประเมินที่ชัดเจน
4.  ดำเนินการประเมินจากข้อ 3 เป็นระยะ ๆ
5.  แจ้งผลการประเมิน วิเคราะห์ผลการประเมินร่วมกัน (สพป.+ โรงเรียน)

โรงเรียน

1. วิเคราะห์กรอบการประเมินที่ สพป.แจ้งให้ทราบ
2. ทำแผนพัฒนาตามกรอบการประเมิน (นอกเหนือจากแผนปฏิบัติการของโรงเรียน)
3. ดำเนินการพัฒนา
4. สรุปผลการพัฒนา / สรุปข้อมูลผลสำเร็จ / จัดทำเอกสารประกอบ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น จะปฎิบัติได้แค่ไหน อย่างไร
อยู่ที่ผู้มีอำนาจในแต่ละขั้นตอน แต่การพิจารณาเงินเดือนท้ายที่สุดก็ต้องดูข้อมูล
การเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลัง 5 ปีอยู่ดี

ขอให้โชคดี

ชวลิต

แถมให้  (แปล)

ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด
ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์
แต่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วฉันนั้น  ขออิทธิผลที่ท่านปรารถนาแล้ว
ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน  ขอความดำริทั้งปวงจงบริบูรณ์
เหมือนดังพระจันทร์วันเพ็ญ  เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว

ความจัญไรทั้งปวงจงบำราญไป โรคทั้งปวงจงหายไป
อันตรายอย่ามีแก่ท่าน  ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุข
มีอายุยืน ธรรม 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ  สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีอภิวาทเป็นปรกติ
อ่อนน้อมผู้เจริญเป็นนิตย์

“อย่ามัวสงสัย เดี๋ยวจะสายเกินแก้”

 

By chawaritplan

ฉบับที่ 10

สวัสดีครับเพื่อนครู สพป.ตาก เขต 1 ทุกท่าน

              เรียนเชิญบุคคลเป็นประธานในการจัดกิจกรรมของโรงเรียน  สพป.ตาก เขต 1 มีโรงเรียนจำนวน
110 โรงเรียน  ทุกโรงเรียน  มีแผน / โครงการ / กิจกรรม / ปฎิทินการปฏิบัติงานตลอดปีการศึกษา
ในแต่ละกิจกรรมอาจมีการเชิญบุคคลต่าง ๆ  มาเป็นประธานเปิดโครงการ / กิจกรรมนั้น ๆ บุคคลสำคัญที่โรงเรียน
ควรเชิญ มาเป็นประธานคือ ผู้นำชุมชนในพื้นที่เขตบริการของโรงเรียน เพราะโรงเรียนอยู่ในหมู่บ้าน อยู่ในชุมชน
ต้องเห็นความสำคัญของบุคลากรในชุมชน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานฯ อบต. นายกฯ อบต. เทศบาล
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  หรือผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชน  บุคคลดังกล่าวนี้โรงเรียนต้องให้ความสำคัญ
(รวมทั้งให้เกียรติ) โดยเชิญมาเป็นประธานหรือร่วมกิจกรรมอยู่เสมอ
การเชิญผู้นำชุมชนมาเป็นประธานหรือร่วมกิจกรรมของโรงเรียนทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญของโรงเรียน /
การศึกษา จะเกิดทัศนคติที่ดีเกิดความร่วมมือในการพัฒนาโรงเรียน ให้ความช่วยเหลือโรงเรียน ร่วมสนับสนุน
การจัดการศึกษาในท้องถิ่นมากขึ้นโรงเรียนก็จะได้ปัจจัยในการพัฒนาโรงเรียนมากขึ้น
ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีข้อมูลผู้นำชุมชนในพื้นที่เขตบริการโรงเรียนของตนเอง และทำความเข้าใจ (สนิทสนม)
ร่วมกิจกรรมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้การประสานงานง่ายขึ้น และเกิดการพัฒนาโรงเรียน
                                                   ขอให้โชคดี

                                                                                  ชวลิต

แถมให้

                 “เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า”  สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
อย่าลืม  แปลงสินทรัพย์ให้เป็นบุญ  ในขณะที่อยู่บนโลกสมมุติ  (ผู้เขียน)

                                                                     ตามรอยธรรม  (เอกสาร)

หากชาวพุทธปริยัติปฏิบัติดี
ทุกคนมีจิตสงบพบธรรมอำไพ
ละความชั่ว  ทำแต่ดี  มีจิตใส
มุ่งกายใจ  ละตัณหา  ปัญญาเจริญ
พุทธองค์ทรงสอนสังวรทุจริต
พูดทำคิดสุจริตน่าสรรเสริญ
ละตัณหาอย่ามัวเพลิดเพลิน
เกิดความเจริญในธรรมน่านิยม

By chawaritplan

ฉบับที่ 9

สวัสดีครับ เพื่อนครู สพป.ตาก เขต 1 ทุกท่าน

งบประมาณเป็นปัจจัยที่สำคัญในการบริหาร  (Man Money Materials Management)  โรงเรียนต้องศึกษา
งบประมาณของโรงเรียนตนเองให้ละเอียดว่าที่มางบประมาณมาอย่างไร ใช้อย่างไร จะขอสรุปประเด็นสำคัญดังนี้
(ให้โรงเรียนศึกษาเรื่องเงินอุดหนุนเพิ่มเติม)
สพฐ.ดำเนินการจัดสรรและจ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน
2 กรณีคือ
1. สพฐ.โอนตรงไปในสถานศึกษา (ค่าใช้จ่ายรายหัว)
2. สพฐ.จัดสรรเงินผ่าน สพป. ได้แก่
– ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน
– ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนประจำ
– ค่าอาหารนักเรียนประจำ
– ค่าอาหารนักเรียนไป – กลับ

หน้าที่ของสถานศึกษา  (ให้ศึกษาเพิ่มเติม)
1. รับทราบวงเงินจัดสรรและจำนวนเงินที่ได้รับ
2. ตรวจสอบจำนวนเงิน
3. ออกใบเสร็จรับเงิน
4. ใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินอุดหนุนประเภทนั้น ๆ (ระมัดระวังด้วย)
5. ต้องใช้จ่ายภายในปีงบประมาณ กรณีมีเงินเหลืออยู่ และยังไม่สิ้นสุดโครงการ ให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างช้า
ภายในปีงบประมาณถัดไป
6. ถ้าใช้จ่ายไม่หมดตามข้อ 5 เงินที่เหลือต้องส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
7. ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินฝากธนาคาร สถานศึกษาต้องนำส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
8. การจัดซื้อจัดจ้าง ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
9. การใช้จ่ายเงินต้องเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนเป็นลำดับแรก และใช้จ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนด
(ให้ศึกษาหลักเกณฑ์ สพฐ. ที่ ศธ 04006/2279  ลงวันที่  16  ธันวาคม  2548)
10. หลักฐานการใช้จ่ายเงินสถานศึกษาต้องเก็บไว้เพื่อให้ตรวจสอบได้
11. สถานศึกษาต้องจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีให้สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ.
12. เสนอแผนปฏิบัติการประจำปีผ่านความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
13. รายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษาให้สาธารณชนได้รับทราบ
14. ค่าใช้จ่ายงบประมาณต้องสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา

ข้อควรระวัง
1. ผู้บริหารโรงเรียนอย่าทำคนเดียวหรือสั่งการตามความคิดของตนเอง (เงินของข้าใครอย่าแตะ)
2. ให้แต่งตั้งคณะทำงาน / ทำเป็นทีม / เน้นการมีส่วนร่วม
3. โปร่งใส ตรวจสอบได้
4. ระมัดระวังผู้บริหารอย่าเก็บเงินไว้ในกระเป๋าตนเอง (หรือที่อื่น)
5. ระวังอาจจะใช้เงินผิดประเภท  (เช่น  ตัดเสื้อผ้าแจก  ซ่อม/สร้างบ้านให้เด็กหรือให้ทุนการศึกษา)
6. ระวังประเภทใช้เงินแบบก่ำกึ่ง  (กึ่งถูกกึ่งผิด)  เช่น มีโรงเรียนหนึ่งเสนอขออนุญาตมาที่เขตพื้นที่
(จำไม่ได้ว่าเขตใด) ขออนุญาตพานักเรียนไปทัศนศึกษาทะเลโดยมีครูที่โรงเรียนและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ในกำหนดการระบุไปเที่ยวทะเล  เสร็จจากทะเลไปศึกษาดูงานที่บิ๊กซี  (แบบนี้ก็มีด้วย)

ให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่าคิดนอกกรอบ (เหมือนที่ผ่านมา) มันอันตรายเด้อ

ขอให้โชคดี

ชวลิต

แถมให้

เมื่อ 3 วันที่ผ่านมามีโอกาสไปสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโตโคตมะ (ขนาดหน้าตัก 9 เมตร สูง 16 เมตร)
มีเจ้าหน้าที่กลุ่มนโยบายและแผนร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย
อานิสงส์การจัดสร้างพระพุทธรูป
1. อกุศลกรรมในอดีตชาติปางก่อนจะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบา จากเบาเป็นสูญ
2. สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง สรรพภยันตรายสลาย
3. เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติแต่ปางก่อน เมื่อได้รับส่วนบุญไปแล้วก็จะเลิกเว้นการจองเวร
4. เหล่ายักษ์ผีรากษส งูพิษ เสือร้าย ไม่อาจเป็นภัย
5. จิตใจสงบ ปวงภัยไม่เกิด ฝันร้ายไม่มี ราศีผ่องใส สุขภาพแข็งแรง กิจการงานเป็นมงคล
6. มั่นคงในคุณธรรม ความอุดมสมบูรณ์ปรากฏ ครอบครัวสุขสันต์ วาสนายั่งยืน
7. คำกล่าวเป็นสัจ  ฟ้าดินปรานี  ทวยเทพยินดี มิตรสหายปรีดา
8. คนโง่สิ้นเขลา คนเจ็บหายได้ คนป่วยหายดี ความสุขหายเข็ญ บุญกุศลเรืองรอง
9. พ้นจากมวลอกุศล เกิดใหม่บุญเกื้อหนุน มีปัญญาเลิศล้ำ สตรีจะได้เกิดเป็นชาย
10. สิ่งที่สร้างจะบังเกิดเป็นกุศลจิตแก่ทุกคนที่ได้พบเห็น เป็นเนื้อนาบุญอย่างอเนกทุกชาติของผู้สร้างที่เกิดจะได้พึ่ง
ธรรมจากพระอริยเจ้า ปัญญาในธรรมแก่กล้าสามารถได้อภิญญาหก สำเร็จโพธิญาณ

เป็นข้อความจากแผ่นพับ ท่านจะเชื่อแค่ไหนอย่างไรก็แล้วแต่บุคคล อย่ามัวรอพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง ระวังจะสายเกินแก้

By chawaritplan

ฉบับที่ 8

สวัสดีครับ เพื่อนครู สพป.ตาก เขต 1 ทุกท่าน

ขอพูดเรื่ององค์กรสักนิดหน่อย  องค์กร(Organization) หมายถึงบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวกัน
โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกันและดำเนินกิจกรรมบางอย่าง
ร่วมกัน มีขั้นตอนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น

 องค์ประกอบขององค์กร
1. วัตถุประสงค์หรือจุดหมายขององค์กร
2. โครงสร้าง
3. กระบวนการปฏิบัติงาน
4. บุคคล
5. วัฒนธรรมขององค์กร

จากความหมายและองค์ประกอบขององค์กร จะเห็นว่า เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน
ก็เป็นองค์กรหนึ่ง อาจเรียกว่า องค์กรราชการ หรือองค์กรราชการทางการศึกษา  ฉะนั้น
เขตพื้นที่การศึกษาหรือโรงเรียน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายขององค์กร  (วัตถุประสงค์ นโยบาย
เป้าหมาย)  ซึ่งมีอยู่หลายฉบับนั้น หมายถึง ไม่มีบุคคลใด (ในองค์กร) เป็นเจ้าของ
(ไม่ใช่บริษัทของข้าใครอย่าแตะ)  ทุกคนในองค์กรตั้งแต่หัวหน้าจนถึงลูกน้องต้องปฏิบัติตาม
ตามกฎหมาย  วัตถุประสงค์  นโยบาย  เป้าหมายขององค์กร  ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้
(เหมือนที่ผ่านมา) งบประมาณเป็นของข้า บุคลากรเป็นของข้า  รถ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ  เป็นของข้า
ใครอย่าแตะ ถ้าผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในองค์กรเป็นแบบนี้ถือว่าคิดผิด วิสัยทัศน์ใช้ไม่ได้
การคิดและทำอย่างนี้ทำให้บุคคลในองค์กรเดือดร้อนตาม ๆ  กัน

จากที่กล่าวว่าโรงเรียนเป็นองค์กรราชการทางการศึกษา  วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
ในสภาพการจัดการศึกษาปัจจุบันนี้ ต้องอาศัย ความสามารถของผู้บริหารโรงเรียนบวกกับ
จิตสำนึกของครูผู้สอน
เท่านั้นที่จะทำให้นักเรียนมีคุณภาพ  ไม่รู้ว่าผมพูดผิดหรือเปล่า
ท่านผู้บริหารโรงเรียนและเพื่อนครูคิดเหมือนผมหรือเปล่าครับ

                         ขอให้โชคดีครับ

                                                          ชวลิต

 

แถมให้

รูปธรรมกับนามธรรมเป็นของคู่กัน ท่านมักจะได้ยินบ่อย ๆ  พูดง่าย ๆ  คือ  รูปธรรมสามารถ
มองเห็นหรือสัมผัสได้ แต่นามธรรมนั้นมองไม่เห็นหรืออาจสัมผัสไม่ได้ เช่น
คน   ประกอบด้วย  กายกับจิต  เกี่ยวกับกายนั้นสัมผัสได้  ส่วนจิตสัมผัสไม่ได้  (แต่มี)
เช่น  ความรู้สึก  ความจำ  การปรุงแต่ง  การรับรู้
รูปธรรม ได้แก่  สิ่งต่าง ๆ  ในโลกนี้  ได้แก่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ  สิ่งไม่มีชีวิต  ดิน  น้ำ  หิน  ฯลฯ
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า สิ่งที่เป็นนามธรรม (มองไม่เห็น หรือสัมผัสไม่ได้)  มีมากกว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรม
ในโลกปัจจุบันเราเรียนรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นหลัก  (วิทยาศาสตร์)  ส่วนที่เป็นนามธรรม
ไม่ค่อยมีใครศึกษา  ผมเองนั้นเกือบจะหยุดศึกษาเกี่ยวกับรูปธรรมและหันมาศึกษานามธรรม
เป็นหลัก อยากจะชวนเพื่อนครูมาศึกษาเรื่องเกี่ยวกับนามธรรมแต่ก็ไม่กล้าชวน

By chawaritplan

ฉบับที่ 7

สวัสดีครับเพื่อนครู สพป.ตาก เขต 1 ทุกท่าน

ได้ดูข่าวการตีนักเรียนชั้น ม.1 จำนวน 6 คน ของครูผู้หญิงแล้วรู้สึกสงสัยเกิดอะไรขึ้น
ก็ทราบว่าเป็นคุณครูบรรจุใหม่ เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผลคือ
ผู้ปกครองไม่ติดใจเอาความนักเรียนถูกตี ครูถูกลงโทษว่ากล่าวตักเตือน
จากเหตุกรณีนี้ตั้งข้อสังเกตคือคุณครูบรรจุใหม่อาจไม่รู้เรื่องการลงโทษนักเรียน
หรือผู้บริหารโรงเรียนอาจไม่ได้ทำความเข้าใจกับคุณครูบรรจุใหม่ในเรื่องการปฏิบัติราชการ
โดยเฉพาะระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา
สพป.ตาก เขต 1 มีคุณครูบรรจุใหม่เป็นจำนวนมากเพราะเป็นพื้นที่ที่กันดาร
พื้นที่ขาดแคลน และพื้นที่สูง ทำให้มีคุณครูย้ายออกและบรรจุใหม่เป็นจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้
จึงอยากให้ศึกษาระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา
โดยมีเนื้อหาสรุปดังนี้
กระทำความผิด  หมายความว่า  การที่นักเรียนหรือนักศึกษาประพฤติฝ่าฝืนระเบียบ
ข้อบังคับของสถานศึกษา หรือของกระทรวงศึกษาธิการ หรือกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤติ
ของนักเรียน นักศึกษา
การลงโทษ  หมายความว่า  การลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษาที่กระทำความผิด
โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน

การลงโทษ  มี  4  สถาน
1. ว่ากล่าวตักเตือน
2. ทำทัณฑ์บน
3.  ตัดคะแนนความประพฤติ
4.  ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับพฤติกรรม

ห้ามลงโทษ   ด้วยวิธีรุนแรงหรือแบบกลั่นแกล้งหรือลงโทษด้วยความโกรธ
หรือด้วยความพยาบาท
การลงโทษ  ให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียน
ให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป
1. จากข้อสังเกตการลงโทษทั้ง  4  สถาน ตามระเบียบฯ นี้ แทบจะไม่มีผลต่อนักเรียน
ในระดับการศึกษาภาคบังคับ (ป.1- ม.3)  แม้จะลงโทษอย่างไรก็ไม่มีผลต่อการเรียนของนักเรียนเท่าใด
เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับ คือบังคับให้เรียน
2.  จากกรณีข้างต้นที่คุณครูผู้หญิงตีนักเรียนนั้น โดยอ้างว่าเป็นข้อตกลงระหว่าง ครู ผู้ปกครอง
และนักเรียนนั้น  แม้จะเป็นข้อตกลงอะไรก็ตาม ก็ไม่สามารถลงโทษโดยวิธีรุนแรงได้
3.  ห้ามลงโทษด้วยวิธีรุนแรง (คิดได้หลายอย่าง เช่น อย่าตีเร็วนักใช่หรือไม่) อย่าใช้อารมณ์
ด้วยความโกรธ

จากลักษณะดังกล่าวแล้ว จะลงโทษนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับอย่างไร
ในสภาพปัจจุบันนักเรียนเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่สังคมรับไม่ได้อยู่แล้ว  คงต้องใช้ความรู้ความสามารถ
ของผู้บริหารโรงเรียน  คณะครู  ชุมชน  และผู้ปกครองต้องร่วมมือกัน  แล้วที่สำคัญต้องสร้างวัฒนธรรม
ที่โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกที่ดีและปฏิบัติได้
(สร้างตัวอย่างที่ดีให้เด็กดูและปฏิบัติ)
เป็นงานใหญ่ของโรงเรียนที่ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบและการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย

                             ขอให้โชคดีครับ

                                                                     ชวลิต

แถมให้

หลักธรรมที่สำคัญประการหนึ่งคือ สติ สัมปชัญญะ
สติ  หมายถึง  ความระลึกได้  มีความรอบรู้  ไม่ลืม ไม่เผลอ  ไม่ประมาท
สัมปชัญญะ หมายถึง  ความรู้ตัว  ไม่หลงลืม  รู้สึกตัวอยู่เสมอทุกขณะจิต  หากเรามีสติ สัมปชัญญะอยู่เนือง ๆ
เราก็จะรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ได้ หากท่านมีศีล 5 บริสุทธิ์ จะเป็นพื้นฐานของอริยบุคคล เป็นจุดเริ่มต้นของ
อริยบุคคลที่มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักปฏิบัติ

ในโอกาสต่อไปคงต้องกล่าวถึงอริยบุคคลหมายถึงอะไร  ท่านอยากเป็นอริยบุคคลหรือปุถุชน
ส่วนผู้เขียนเองพยายามทุกวิถีทางที่จะเป็นอริยบุคคลในชาตินี้ (ต้องลงทุนทั้งชีวิต)

By chawaritplan

ฉบับที่ 6

สวัสดีครับ เพื่อนครูสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 1 ทุกท่าน

เป็นช่วงต้นปีงบประมาณ (ความจริงไตรมาศที่ 2 แล้ว) งบประมาณเริ่มแจ้งไปโรงเรียนเรื่อยๆ และ
ในบางเรื่องเป็นเรื่องด่วนต้องรายงาน สพฐ. หรือใช้ข้อมูลที่เป็นจริงจากโรงเรียนในการเสนอขออนุมัติ
จาก สพฐ. หรือ ผอ.สพป. แต่ปัญหาของเจ้าหน้าที่ (กลุ่มนโยบายและแผน) คือ ข้อมูลปัจจุบันจากโรงเรียน
ไม่มี  และประสานงานกับโรงเรียน (ด่วน) ยาก การเก็บข้อมูลหรือรายงานข้อมูลไป สพฐ. เลยต้องช้าไป
และในหลาย ๆ เรื่องเจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจทันทีทันใดเลยว่างบประมาณนี้จะให้โรงเรียนใด
จึงขอให้ผู้บริหารโรงเรียนได้พยายามเปิดโทรศัพท์ไว้ตลอด 15 ชั่วโมง หรือแจ้งเบอร์โทรว่าถ้าติดต่อ
ผู้บริหารโรงเรียนไม่ได้จะให้โทรไปที่ไหน เช่น ผู้รักษาการฯ คนที่ 1 คนที่ 2 คนที่ 3 ฯ ให้บอกเบอร์กับ
เจ้าหน้าที่ไว้โดยเฉพาะ คุณเฉลียว  (งบประมาณส่วนใหญ่ลงมาที่คุณเฉลียว) หากท่านไม่แจ้งเบอร์สำรอง
อาจทำให้เสียโอกาสการได้งบประมาณไปพัฒนาโรงเรียนได้ โรงเรียนที่เจ้าหน้าที่โทรไม่ติด หรือไม่รับสาย
มีอยู่ 10 กว่าโรงเรียน โอกาสต่อไปผู้เขียนจะขอเบอร์ 10 กว่าโรงเรียนนี้ ก็คอยดูว่าเป็นโรงเรียนอะไรบ้าง
ถ้าอ่านแล้วต้องรีบแจ้งเบอร์โทรมาที่คุณเฉลียวโดยด่วน

ขอให้โชคดีครับ
ชวลิต

แถมให้
เรื่อง ดี เก่ง มีสุข ผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งรถไปโรงเรียนเพื่อประเมินประกันคุณภาพภายใน
กับสมาชิกเทศบาลตำบลหนึ่ง ท่านพูดถึงคุณธรรมความดีว่า คนเก่งนั้นหาง่ายและฝึกได้
ส่วนคนดีนั้นหายาก และยังพูดถึงโรงเรียนในหมู่บ้านของตนเองว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
เพราะผู้ปกครองนำลูกหลานไปเรียนในเมืองหมด เขา (สมาชิกเทศบาล) ว่าจะพยายาม
รณรงค์ทำความเข้าใจให้ชาวบ้านได้ส่งลูกหลานมาเข้าเรียนในหมู่บ้านตัวเอง
จากข้อความข้างต้นในฐานะที่ท่านเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าผู้นำท้องถิ่นมองวิสัยทัศน์
ในลักษณะนี้ ท่านจะทำอย่างไรต่อไป   ผู้เขียนมักจะมาทำงานเช้า (ประมาณ 06.30-7.30 น.)
และมีโอกาสได้ดูข่าวเช้า มีอยู่ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูล เรื่อง การยอมรับทุจริตคอรัปชั่น
โดยคนไทยรับได้เกือบ 70% แต่ประเทศมาเลเซียรับไม่ได้เกือบ 70 % ถึงแม้ตัวเองจะได้ประโยชน์
จากผลสำรวจนี้ เป็นแนวโน้มทัศนคติของประชาชนที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในอนาคต
ไม่ทราบว่าท่านเป็นหนึ่งในรูปแบบของคนไทย หรือคนมาเลเซียครับ

By chawaritplan
คำกล่าวอ้าง

สวัสดีครับ  เพื่อนครูสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 1
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย
และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์
และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
มีครู 4-5 คน ทำให้เป็นปัญหาในการปฏิบัติงานในการจัดทำเอกสาร ในการออกแบบ
และวางแผนการทำงาน หากโรงเรียนใดมีการออกแบบ (วางแผน) การปฏิบัติงานที่ดีแล้ว
โรงเรียนนั้นย่อมมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ผู้เขียนจึงขออนุญาตเสนอแนวทาง
ในการออกแบบงานเพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ดังนี้
1. กำหนด/ ศึกษาเรื่อง/ หัวข้อ/ โครงการ/ กิจกรรมให้ชัดเจน
2. จัดทำคำสั่ง (ตามหัวข้อ) เพื่อการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย
3. บันทึกการประชุมคณะกรรมการ/คณะทำงาน ตามคำสั่งข้อ 2 ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
ควรบันทึกข้อสรุปเท่าที่จำเป็น
4. กำหนดแผนปฏิบัติงานว่าจะทำอะไร อย่างไร
5. กำหนดปฏิทินปฏิบัติงาน
6. บันทึกการปฏิบัติงานในแต่ละโครงการ/ กิจกรรม
7. จัดทำข้อมูลพื้นฐา / ข้อมูลความสำเร็จ
8. สรุปผลการปฏิบัติงาน
ใน 8 ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการในการปฏิบัติงานแต่ละโครงการ/กิจกรรม ถ้าปฏิบัติตาม
กระบวนการนี้แล้ว จะทำให้งานประสบความสำเร็จ มีขั้นตอนการปฏิบัติงาน มีส่วนร่วม
อย่างหลากหลาย และบุคคลภายนอกที่มาติดตามผลการปฏิบัติงานจะสะดวกในการศึกษา
ติดตาม เข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีบุคลากรน้อยแต่ภาระงานมีมาก
ถ้าจับกระบวนการ/ขั้นตอน 8 ขั้นตอนนี้ได้ก็น่าจะสะดวกและประหยัดเวลาในการปฏิบัติงานได้

ขอให้โชคดีครับ
ชวลิต

แถมให้
ปีนี้วันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์ครั้งแรก ในวันมาฆบูชานี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์
ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ ได้แก่
1. ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
3. พระสงฆ์ที่มาประชุมพร้อมกันล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6
4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา”
หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง
2. การทำกุศลให้ถือพร้อม
3. การทำจิตให้ผ่องใส
หรือ “ทำความดี ละความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ
การทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เจริญสมาธิ ภาวนา เวียนเทียน บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ต่างๆ
ตามวัด สถานที่ราชการ รวมทั้งประดับธง ถือศีล ทำความสะอาดบ้าน

ฉบับที่ 5

By chawaritplan

ฉบับที่ 4

สวัสดีครับเพื่อนครู สพป.ตาก เขต 1 ทุกท่าน
เป็นฉบับที่ 4 เป็นช่วงของการดูผล O-NET ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะสังคม (คน) ยอมรับผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนเป็นหลักว่า โรงเรียนไหนผลสัมฤทธิ์สูงแสดงว่าโรงเรียนนั้นมีคุณภาพ (ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า)
ก็ต้องคอยดูว่าโรงเรียนเรา ผลสัมฤทธิ์ฯ จะขึ้นหรือลง   ได้อ่านข้อความจากแหล่งข่าวว่า การศึกษาไทย
มุ่งสู่วิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติ (NT) ชี้ว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่มีความรู้
ต่ำกว่ามาตรฐานในทุกรายวิชา  การศึกษาขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
(Organization for Economies Co-Operation and Development : OBCD) หรือที่รู้จักกัน
ในชื่อของ PISA พบว่า นักเรียนไทยที่จัดได้ว่ามีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูงมีเพียง 1% เท่านั้น
เด็กไทยร้อยละ 74 อ่านภาษาไทยไม่รู้เรื่อง มีตั้งแต่อ่านไม่ออก ตีความไม่ได้ วิเคราะห์ความหมายไม่ถูก
ปี 2555 โครงการประเมินผลการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชาติ (PISA) เผยว่า
ผลการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยอยู่อันดับที่ 49 จาก 65 ประเทศกำลังพัฒนา
การจัดอันดับทางการศึกษาของ “เพียร์สัน” บริษัทด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเผยว่าประเทศไทย
อยู่อันดับที่ 37 จาก 40 ประเทศ โดยอันดับ 1 และ 2 ได้แก่ประเทศฟินแลนด์ และเกาหลีใต้ ตามลำดับ
คุณครูอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ผมมีประสบการณ์เร็ว ๆ นี้ ได้ไปตรวจสนามสอบ O-NET ชั้น ป.6 และ ม.3
ในแถวอำเภอเมืองตาก  ไปพบโรงเรียนหนึ่ง เด็กไม่มาสอบ ชั้นละ 5 คน 7 คน แสดงว่าอะไร
และไปถามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนหนึ่งว่า เมื่อวานไม่ได้มาสอบหรือ? เด็กตอบว่า ตื่นไม่ทันครับ
(ท่านว่าบ่งบอกถึงอะไร) และโรงเรียนเดียวกันนี้ เมื่อนักเรียนทำข้อสอบเสร็จแล้วจะนั่งในลักษณะฟุบกับโต๊ะ
แทบจะทุกคน (เป็นตัวชี้วัดอะไร) ถ้าโรงเรียนนี้เป็นลักษณะนี้ หาก PISA มาประเมินผลสัมฤทธิ์
ผมว่า PISA ต้องกลายเป็น PIZZA แน่ ๆ

ขอให้โชคดีครับ
ชวลิต
15 กุมภาพันธ์ 2556

แถมให้
อาชีพที่มีบุญมาก ได้แก่ อาชีพครู อาจารย์ และอาชีพหมอ พยาบาล ฉะนั้น คุณครูทั้งหลายจงภูมิใจในอาชีพ
และจงทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ การปฏิบัติงาน (การสอน) ที่ยากเท่าไร
บุญก็ยิ่งมากตาม ท่านเชื่อหรือไม่

By chawaritplan

ฉบับที่ 3

สวัสดีครับ เพื่อนครู สพป.ตาก เขต 1 ทุกท่าน
เป็นฉบับที่ 3 แล้ว การพัฒนาการศึกษามีปัจจัยหลายอย่างในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน
แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง (หรือที่สุด) คือ คน หมายถึง ผู้บริหารโรงเรียน
ครูผู้สอน นักการ  เจ้าหน้าที่ธุรการ พูดง่าย ๆ คือ บุคลากรในโรงเรียนนั้นนั่นเอง แล้วดูอย่างไรว่า
บุคลากรโรงเรียนนั้นมีคุณภาพหรือไม่ อยากให้เพื่อนครูมีหลักในการดูว่า บุคลากรในโรงเรียนเรา
(รวมทั้งตัวครูด้วย) มีคุณภาพเพียงใด โดยมีหลักดังนี้
1.ต้องมีความคิด หรือ วิสัยทัศน์ในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้อง เหมาะสม
2.ต้องมีความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพ วิชาครู เนื้อหา หลักสูตรต่างๆ เทคนิคการสอน
หรืออาจเรียกว่า ความรู้ตามทฤษฎี หรือ ตำรา
3.ต้องมีความสามารถในการปฏิบัติงาน ความสามารถในการสอน ความสามารถในการบริหาร
หรืออาจเรียกว่าปฏิบัติได้
4.ต้องมีคุณธรรมประจำตัว เช่น มีศีล มีพรหมวิหาร 4 มีสังคหวัตถุ 4 หิริโอตตัปปะ
ทั้ง 4 ข้อ อาจเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของบุคลากรในโรงเรียนเราได้ เพื่อนครูลองสำรวจทีละคน
ว่าคนไหนมีครบทั้ง 4 ข้อ คนไหนได้ 3 ข้อ 2 ข้อ 1 ข้อ หรือไม่มีเลย เมื่อสำรวจแล้วอย่าไปบอกใคร
ให้รีบทำลายเอกสารเสียเพราะอันตรายเดียวจะหาว่าผมไม่บอก
ขอให้โชคดี
ชวลิต
15 กุมภาพันธ์ 2556

แถมให้
โชคดี ขั้นที่ 1 ที่เกิดมาเป็นมนุษย์
โชคดี ขั้นที่ 2 ที่เกิดมาเป็นคนไทย
โชคดี ขั้นที่ 3 ที่เกิดมานับถือพุทธศาสนา
โชคดี ขั้นที่ 4 ที่มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา
โชคดี ขั้นที่ 5 ที่ได้อริยบุคคล
เพื่อนครูได้โชคดีชั้นที่เท่าไรครับ

By chawaritplan

ฉบับ 2

สวัสดีครับ เพื่อนครู สพป.ตาก เขต 1 ทุกท่าน
เป็นฉบับที่ 2 ที่เขียนจดหมายฉบับนี้ ขอพูดถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาสักนิดหนึ่ง เพราะทำงานการศึกษา
ไม่พูดถึงคุณภาพการศึกษาไม่ได้ หน้าที่ของโรงเรียน (ครู)คือการพัฒนาคุณภาพเด็กนักเรียน แล้วดูตรงไหน
ว่าโรงเรียนไหนพัฒนาเด็กได้ดีกว่ากัน ก็ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องคุณภาพเด็กดังนี้
1.หน้าที่ของครูคือการพัฒนาสมองเด็ก หมายถึง สติปัญญา ให้มีความรู้ความสามารถตามหลักสูตร
ดูได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแต่ละกุลุ่มสาระฯ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะดูง่าย เปรียบเทียบได้ง่าย
และสังคมยอมรับ ถ้าโรงเรียนไหนผลสัมฤทธิ์สูงมักจะสรุปว่าโรงเรียนนั้นมีคุณภาพดี ผู้บริหารดี มีครูดี
2.คุณภาพเด็กนักเรียนดูได้จาก สุขภาพกาย หมายถึง นักเรียนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์
ซึ่งโรงเรียนจะมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น อาหารเสริมนม อาหารกลางวัน ดูแลสุขภาพนักเรียน
ไข้เลือดออก เหา ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง การออกกำลังกาย
3.คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถ
อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ มีคุณธรรม อันได้แก่ รักชาติ ศาสน์กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต
มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงานรักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ นั้นหมายถึงนักเรียน
เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วสามารถใช้ชีวิตในโลกกว้าง มีภูมิคุ้มกัน ปรับตัวกับสถานการณ์ได้
อย่างภาคภูมิใจ
ฉะนั้น เพื่อนครูในฐานะนักการศึกษา ลองสำรวจดูว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ครบทั้ง 3 ประการหรือไม่
ขอให้โชคดีครับ
ชวลิต
15 กุมภาพันธ์ 2556
แถมให้
ทุกชีวิตเกิดมาเพื่อตาย ตายแล้วไปไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะไปไหน เลือกที่ไปได้หรือไม่ แล้วในขณะมีชีวิตอยู่
จะปฏิบัติตัวอย่างไรดี  สงสัยจริงๆ แล้วเกี่ยวอะไรกับผู้ปฏิบัติงานการศึกษาอย่างเรา ๆ

By chawaritplan